กิจกรรมปลูกข้าวไร่ ปะ-วา-เก่อ-ญอ สืบทอดวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น

post-image
          #พม. #ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน
          ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับประชาชนบ้านแม่ริดป่าแก่ จัดกิจกรรมการเรียนรู้สืบทอดวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น (ปลูกข้าวไร่ ปะ-วา-เก่อ-ญอ) ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หน่วยพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงแม่ริดป่าแก่ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงได้สัมผัสวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์และโดดเด่นของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงของราษฎรบนพื้นที่สูง
          -สาระน่ารู้-
          "ไร่ข้าว" หรือ "คึ" จะถูกเตรียมพื้นที่ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน โดยกำจัดวัชพืชที่มีอยู่ในบริเวณไร่ให้หมด และไม่มีการตัดต้นไม้ทั้งต้น เพื่อที่ต้นไม้ออกกิ่งก้าน และแตกหน่อใหม่เรื่อย ๆ และรอจนฝนตก คือปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม ฤดูกาลปลูกข้าวไร่ก็จะเริ่มต้นขึ้น "ข้าวไร่" สามารถทำได้ปีละครั้ง อาศัยเพียงน้ำฝน ที่ตกลงมาเท่านั้น การปลูกข้าวไร่ของชาวกะเหรี่ยง จะใช้เสียมไม้ไผ่ทำขึ้นเอง มีด้ามยาว ขนาดเล็ก ช่วยทุ่นแรง การปลูกจะใช้เสียมไม้ไผ่แทงลงไปในดินครั้งเดียว และเอาเมล็ดข้าวหย่อนลงไปในรูประมาณ 10-15 เมล็ด โดยไม่กลบดิน ระยะเวลา ในการเจริญเติบโตของข้าวไร่ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จะเก็บเกี่ยวช่วงเดือนตุลาคม
          พันธุ์ข้าวไร่ที่ปลูกวันนี้ เป็นพันธุ์ข้าวไร่ดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ริดป่าแก่ ที่มีชื่อว่า "บือซูคี" หรือ"ข้าวเจ้าดำ" เป็นพันธุ์ข้าวเมล็ดเล็กๆ กลมๆ และมีสีดำออกม่วง รสชาติ หอม นุ่ม เหนียว มันๆ อร่อยมาก ในไร่ข้าวของชาวกะเหรี่ยง ประกอบด้วยต้นข้าว ต้นพริก แตงกวาและพืชประเภทหอมต่างๆ หรือเครื่องเทศกะเหรี่ยงอีกมากมาย อีกทั้งมีดอกดาวเรือง และดอกหงอนไก่ เพิ่มสีสันให้กับไร่ข้าวได้เป็นอย่างดี และเชื่อว่าเป็นการปกปักรักษาข้าวในไร่ข้าวด้วย

เว็บไซต์กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการเว็บไซต์ คุณสามารถอ่านนโยบายนี้เพิ่มเติมได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ